วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ไม่มีคำว่าสาย ของดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

          ได้อ่านบทความของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่ให้ความรู้และแนวคิดในการลงทุนที่ดี สำหรับคนที่มีอายุมาก ทำให้รู้สึกอยากลงทุน แต่ก็นั่นแหละการลงทุนในหุ้นนั้น ประโยคที่เราได้ยินและจำขึ้นใจนั่นก็คือ "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน" ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ทุกประการ เอาน่า ก็อย่างที่ ดร. นิเวศน์ฯ ท่านบอกว่า"ไม่มีคำว่าสาย" ดังนั้น ก่อนคุณจะตัดสินใจลงทุนคุณต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหุ้นให้เข้าใจเสียก่อน และเมื่อคุณพร้อมเมื่อไร ก็ค่อยลงทุนก็ยังไม่สาย
"ในเรื่องของการลงทุนในหุ้นนั้น  นักวิชาการจำนวนมากมักจะบอกว่ามันเป็นเรื่องที่  เสี่ยง  กว่าการลงทุนในพันธบัตร  เงินฝากธนาคาร  หุ้นกู้  เพราะที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเงินต้นจะยัง  อยู่ครบ  เสมอ  พร้อมกับดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแน่นอน   นอกจากนั้น  หุ้นก็ยังถูกมองว่ามีความเสี่ยงกว่าที่ดินหรือทองคำในสายตาของคนทั่วไปในแง่ที่ว่า   ทั้งสองอย่างนั้น  จับต้องได้และไม่สึกหรอ  และมันรักษาคุณค่าของมันได้เสมอ  ราคาทองคำและที่ดินมีแต่จะ  เพิ่มขึ้น  แม้ว่าในช่วงหลังนี้ราคาทองคำอาจจะมีการ ปรับตัวลงบ้างในระยะสั้น ๆ  แต่ในระยะยาวแล้ว  มัน ไม่เสี่ยง  ผิดกับหุ้นที่ราคาขึ้นลงทุกวัน   หุ้นบางตัวนั้น   ราคาตกลงไปมากในเวลาสั้น ๆ  จนแทบจะหมดค่า   หุ้นสำหรับบางคนนั้นคงเหมือนกับ  กระดาษ  ที่ราคาขึ้นลงได้รวดเร็ว  บางครั้งขึ้นไปหลายเท่าได้ในเวลาอันสั้น   แต่บางครั้งก็สามารถตกลงมาได้มากมายแทบจะไม่มีค่าเหมือน  กระดาษ   ดังนั้น  หุ้นจึงเป็นอะไรที่ เสี่ยงมาก
           ข้างต้นนั้นก็เป็นการวิเคราะห์เรื่องของความเสี่ยงในบางมิติ  นั่นก็คือ  เป็นการวิเคราะห์โดยอิงอยู่กับการลงทุน  ระยะสั้น  และเป็นการมองทรัพย์สินหรือหุ้นเป็น  รายตัว  แต่ถ้าเรามองการลงทุนเป็น  ระยะยาว  และลงทุนในทรัพย์สินหรือหุ้นเป็นแบบ  พอร์ตโฟลิโอ  หรือกระจายการลงทุนโดยการถือทรัพย์สินหรือหุ้นเป็นกลุ่ม   เรื่องของความเสี่ยงก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง  เหตุผลสำคัญก็คือ  ในระยะยาวแล้ว  มิติสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกตัวหนึ่งก็คือ  อัตราเงินเฟ้อ  เพราะนี่จะทำให้เงินมีค่าลดลงแม้ว่าเม็ดเงินของเราจะยังอยู่ครบ  ตัวอย่างเช่น  ถ้าสมมุติว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อเท่ากับปีละ 3%  แต่เงินลงทุนของเราได้ผลตอบแทนปีละ 2%  เมื่อครบ 20 ปี  เงินลงทุนของเราจะโตขึ้นจาก 100 บาท  เป็น  149 บาท  แต่ในวันนั้น  สินค้าจะขึ้นราคาจาก 100 บาท  เป็น 181 บาท  ทำให้เรา  ขาดทุน 32 บาท หรือซื้อของได้น้อยลงไปประมาณ 18%  และนี่ก็คือความเสี่ยงของการถือทรัพย์สินที่มีมูลค่าคงที่แต่ไม่เติบโตหรือเติบโตช้ากว่าเงินเฟ้อในระยะยาว
             มิติของการลงทุนแบบ  พอร์ตโฟลิโอ  นั้น   ช่วยให้การลงทุนมี  ความผันผวน  น้อยลงมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  การลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่นนั้น  อาจจะมองได้ไม่ชัด   แต่การลงทุนในหุ้นนั้น  ถ้าเราลงทุนในหุ้นเพียงตัวเดียว  ความเสี่ยงจะสูงมาก  เนื่องจากหุ้นตัวนั้นอาจจะประสบปัญหารุนแรงได้  กิจการอาจจะเจ๊งไปและทำให้ราคาหุ้นกลายเป็นศูนย์   แต่ถ้าเราถือหุ้นหลาย ๆ  ตัว  โอกาสที่ทุกกิจการจะล้มละลายมีน้อยมาก  ดังนั้น  ราคาของหุ้นก็จะคละเคล้ากันไป  บางตัวดี  บางตัวอาจจะไม่ค่อยดี  แต่โดยรวมแล้ว  ราคาหุ้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปไม่มากนัก   อย่างไรก็ตาม  ในระยะสั้น  แม้ว่าเราจะถือหุ้นเป็นพอร์ตหลาย ๆ  ตัวหรือถือกองทุนรวมที่มีหุ้นจำนวนมาก  มูลค่าหุ้นก็อาจจะลดลงได้เนื่องจากปัจจัยร้อยแปด   แต่ในระยะยาวแล้ว  มูลค่าหุ้นโดยรวมก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย  และถ้าเราสามารถถือหุ้นได้ถึง 20 ปี  โอกาสที่มูลค่าหุ้นจะลดลงนั้นน้อยมาก  ในทางตรงกันข้าม  โอกาสที่หุ้นจะขึ้นไปสูงจะมีมาก  โดยเฉลี่ยแล้ว  ผลตอบแทนจะอยู่ที่ประมาณ  10% ต่อปี  เงิน  100 บาทจะกลายเป็นประมาณ 673 บาทในเวลา 20 ปี  เทียบกับการฝากเงินที่เราจะได้ประมาณ 149 บาทแล้ว  ต้องบอกว่าการลงทุนในหุ้นนั้น  ดีกว่ามากถ้าเรามีเวลาลงทุนถึง 20 ปี หรือเป็นการลงทุนระยะยาว
             ข้อสรุปในขั้นนี้ก็คือ  ถ้าเรามีเวลาลงทุนถึง 20 ปีแล้ว  การลงทุนในหุ้น  โดยการลงทุนแบบเป็นพอร์ตโฟลิโอหรือถือกองทุนรวม  จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดโดยที่มีความเสี่ยง  ต่ำที่สุด  และนี่ทำให้เราควรถือหุ้นเป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินอย่างอื่น  มากเท่าไรนั้นคงขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งและความรู้เกี่ยวกับการลงทุนของแต่ละคน  แต่ใจผมคิดว่าอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 50%  ของทรัพย์สมบัติที่มีอยู่  และคนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนเป็นอย่างดีจะมีหุ้นเกิน 90%  ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
            ประเด็นสำคัญต่อมาก็คือ  คนมักจะคิดว่าตนเองแก่แล้วหรือมีอายุมากแล้ว  การลงทุนในหุ้นอาจจะเป็นเรื่องที่  สายเกินไป  แล้ว  เขาไม่มีเวลา  10 หรือ 20 ปี ที่จะทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องที่  ไม่เสี่ยง  ดังนั้น  เขาขอฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรดีกว่า  นี่อาจจะเป็นเรื่องที่  ผิดพลาด  เรามาดูกันว่าเพราะอะไร?
            เรื่องที่ทำให้คนคิดผิดน่าจะอยู่ที่ประเด็นของ  อายุเกษียณ  หรือเวลาเลิกทำงานที่มักกำหนดไว้ที่ 60  ปี  นี่ทำให้เรารู้สึกว่าเราแก่แล้วตั้งแต่อายุใกล้เกษียณที่ 50 ปีขึ้นไป  แต่ความเป็นจริงก็คือ  อายุของคนกำลังยืนขึ้นเรื่อย ๆ  เช่นเดียวกับสุขภาพก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ  และผมคิดว่า  คนรุ่นนี้จำนวนมากน่าจะมีอายุถึง 80 ปีขึ้นไปก่อนตาย  นอกจากนั้น  ความสามารถในการลงทุนในหุ้นก็น่าจะทำได้จนถึงอายุ 80 ปี  และนี่ทำให้ผมคิดว่าการวางแผนเกี่ยวกับการลงทุนของเรานั้น  เราควรกำหนดว่าเราจะลงทุนจนถึงอายุ 80 ปี  และถ้าเป็นเช่นนั้น  คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่เกษียณในวันนี้หรือแม้แต่คนที่กำลังเกษียณจึงมีเวลาที่จะลงทุนอีกถึง 20 ปี  ซึ่งทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
             คำแนะนำของผมสำหรับคนที่คิดว่าตนเอง  แก่ เกินที่จะเริ่มลงทุนก็คือ  การลงทุน  โดยเฉพาะในแนว  Value Investment นั้น  ไม่ได้ยากหรือใช้พลังอะไรมากมายนักแต่มันใช้ความสุขุมรอบคอบและใจเย็นยึดมั่นศรัทธาในสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้องซึ่งสิ่งเหล่านี้คนมีอายุไม่ได้เสียเปรียบคนหนุ่มสาวเลย  ดังนั้น  คนแก่ทำได้แน่นอน  แต่จริง ๆ  แล้วบางทีคุณอาจจะไม่ได้แก่อย่างที่คุณคิด  และถ้าคุณสามารถลงทุนได้อีกถึง 20 ปี  คุณก็สามารถเริ่ม อาชีพใหม่  นี้ได้แม้ว่าคุณจะอายุ 60 ปีแล้ว  และถ้าคุณทำได้ดี  โอกาสที่คุณจะเป็น  เซียน  และมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมหาศาลก็ยังมีอยู่
             พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง  แอนน์ ไชเบอร์ ซึ่งผมเคยเขียนถึงนานมาแล้วว่า  เธอน่าจะเป็น ไอดอลของนักลงทุน  คนแก่  ทั่วโลก  เพราะเธอเริ่มลงทุนเมื่ออายุ 50 ปี โดยที่เธอเป็นเพียงเสมียนและมีเงินเดือนน้อยมากไม่ต้องพูดถึงความรู้ในการเลือกหุ้น  เธอเริ่มจากเงินประมาณ 5,000 ดอลลาร์ โดยลงทุนซื้อหุ้นที่เป็น  ซุปเปอร์สต็อก ที่ผลิตและขายสินค้าที่เธอรู้จักดีเช่น โคคาโคลา   บริษัทยาเช่นเชอริงพลาวก์  เธอซื้อแล้วก็เก็บ  ติดตามดูกิจการของบริษัทไปเรื่อย ๆ  เมื่อได้เงินปันผลมาก็ลงทุนเพิ่มในหุ้นทบต้นไปเรื่อย ๆ  สุดท้ายในวันที่เธอตาย  ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านเหรียญ ซึ่งเธอบริจาคให้กับโรงพยาบาลหมดเนื่องจากเธอไม่เคยแต่งงานและไม่มีญาติพี่น้อง  สิ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จระดับนั้นก็คือ  เวลาในการลงทุนอีก 51 ปี เพราะเธอตายตอนอายุ 101 ปี และผลตอบแทนที่เธอทำได้คือเฉลี่ยปีละประมาณ 17-18%   ซึ่งก็เป็นผลตอบแทนที่ดีมาก ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ Value Investor มีโอกาสทำได้
              คนมักจะถามว่า  แก่แล้วจะหาเงินมาก ๆ  ไปทำอะไร  ได้แล้วก็  ไม่มีโอกาสใช้   หรือคนที่มีเงินเก็บ  พอดี ๆ ก็อาจจะกลัวว่าจะขาดทุนจากหุ้นแล้วเงินจะไม่เหลือพอใช้จนตาย   คำตอบของผมก็คือ  เราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร  เราอาจจะคำนวณว่าเราจะตายเมื่ออายุ 80 ปี  แต่เราอาจจะอยู่จนถึง 100 ปีก็ได้   และเมื่อถึงเวลานั้นเรายังจะมีเงินพอใช้หรือไม่?  ดังนั้น  การไม่ลงทุนในหุ้นจึงอาจจะเป็นเรื่องที่เสี่ยงพอ ๆ หรือมากกว่าการลงทุนในหุ้นก็ได้  ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  มีโอกาสสูงที่คุณควรลงทุนในหุ้นแม้ว่าคุณจะอายุมากแล้ว  ไม่มีคำว่าสายเกินไป "
            
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น