วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

“รู้จักสไตล์หุ้น... เพื่อเลือกลงทุนให้โดนใจ โดย TSI

       
            เมื่อรู้และเข้าใจตัวเองว่าสไตล์ของเราเป็นแบบไหน  มีเป้าหมายที่จะลงทุนในระยะสั้นหรือระยะยาว ต้องการผลตอบแทนเท่าไร และสามารถที่จะยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน  ต่อไปก็มาทำความรู้จักกับหุ้นแต่ละประเภทกัน เพื่อจะได้ค้นหาหุ้นให้ได้ตรงสไตล์และถูกใจ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้และความเข้าใจ และนี่เป็นบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการแบ่งประเภทและคุณสมบัติของหุ้น เนื้อหาอาจจะยาวไปหน่อย แต่ลองอ่านดูนะ
  
การแบ่งประเภทหุ้นเพื่อการลงทุน
ตราสารทุน” (Equity / Stock) หรือที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่เรียกสั้นๆ ว่า หุ้นคือ ตราสารทางการเงินประเภทหนึ่งที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการ โดยผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้นมีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการนั้นๆ ตามสัดส่วนการถือหุ้น ทั้งยังมีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น... ส่วนแบ่งกำไร (เงินปันผล) และมูลค่าเพิ่มของกิจการ (กำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขายหุ้น) จากข้อมูลการลงทุนในอดีต พบว่า... การลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนรวมที่ดีในระยะยาว เหนือการลงทุนในตราสารทางการเงินเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินหรือ
ลงทุนในตราสารหนี้ ทำให้ปัจจุบันมีผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้นิยามของ หุ้นจะดูไม่ซับซ้อน แต่ความหลากหลายขอประเภทผู้ลงทุน รวมทั้งคุณสมบัติของหุ้นแต่ละประเภท อาจทำให้ผู้ลงทุนสับสนได้ ตัวอย่างเช่น ในบางช่วงเวลาผู้ลงทุนมือใหม่อาจได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้เริ่มลงทุนในหุ้นประเภท “Blue Chip” หรือหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีหรือในบางขณะได้ศึกษาประวัติผู้ลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนประเภท “Value Investor” ที่เน้นลงทุนในหุ้นคุณค่า ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ลงทุนยังพบว่าหุ้นของกิจการหนึ่งๆ สามารถจัดอยู่ในหลายประเภทได้ในเวลาเดียวกันหรือต่างช่วงเวลา เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ การแบ่งประเภทหุ้นทำได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ผู้ลงทุนใช้ในการแบ่งประเภทหุ้น ในที่นี้ขอใช้ 6 ปัจจัยหลัก ได้แก่
ปัจจัยที่ 1 แบ่งตามลำดับสิทธิในการเรียกร้อง
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
หุ้นสามัญ (Common Stocks / Ordinary Shares) : เป็นหุ้นที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่นิยมลงทุน และเป็นหุ้นที่กิจการนิยมนำเข้าเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผู้ถือหุ้นสามัญจะมีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของกิจการและมีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถือครองอยู่ กรณีที่บริษัทต้องเลิกกิจการและมีการชำระบัญชีโดยการขายทรัพย์สิน ผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับเงินทุนคืนเป็นลำดับสุดท้าย หลังจากที่บริษัทจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิเรียบร้อยแล้ว
  หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stocks) : ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิมีสถานะเป็นเจ้าของกิจการเหมือนผู้ถือหุ้นสามัญแต่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะมีสิทธิบางประเภทที่เหนือกว่าผู้ถือหุ้นสามัญ เช่น กรณีที่กิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับเงินปันผลก่อน และกรณีที่มีการขายสินทรัพย์เมื่อเลิกกิจการผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิก็จะได้รับเงินทุนคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
ปัจจัยที่ 2 แบ่งตามลักษณะของกิจการ
แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
หุ้นบลูชิป (Blue Chip Stocks) : หุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนไม่ผันผวน ส่วนใหญ่จะใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ มักเป็นหุ้นของกิจการที่จัดตั้งมานาน และมีปัจจัยพื้นฐานดี สะท้อนได้จากสถานะการเงินที่มั่นคง และขีดความสามารถในการดำเนินงานที่ดี โดยสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาวะเศรษฐกิจดีหรือซบเซา
หุ้นเติบโต (Growth Stocks) : หุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นตัวอื่นๆ ที่มีระดับความเสี่ยงใกล้เคียงกันมักเป็นหุ้นของกิจการที่กำลังเจริญก้าวหน้าและมีผลการดำเนินงานโดดเด่น แต่จะไม่จ่ายเงินปันผลหรือจ่ายในอัตราที่ไม่สูงนัก เนื่องจากกิจการต้องการนำกำไรสะสมไปใช้ในการขยายกิจการ
หุ้นตั้งรับ / หุ้นที่ไม่ตกต่ำตามภาวะตลาด (Defensive Stocks) : หุ้นที่อัตราผลตอบแทนไม่ลดลงหรือลดลงน้อยกว่าการลดลงของอัตราผลตอบแทนของดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ มักเป็นหุ้นของกิจการที่มีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอ ไม่แปรผันตามภาวะเศรษฐกิจมาก มีความเสี่ยงทางธุรกิจและความเสี่ยงทางการเงินต่ำ มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาได้ดีกว่าหุ้นของกิจการในลักษณะอื่นๆ
หุ้นวัฎจักร (Cyclical Stocks) : หุ้นที่อัตราผลตอบแทนเปลี่ยนแปลงมากกว่าอัตราผลตอบแทนของดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ มักเป็นหุ้นของกิจการที่มีผลการดำเนินงานเปลี่ยนแปลงตามวงจรของเศรษฐกิจ เช่น ยอดขายและกำไรสูงมากในช่วงเศรษฐกิจเติบโต แต่ตกต่ำหรือขาดทุนในช่วงเศรษฐกิจ
ซบเซา
หุ้นเก็งกำไร (Speculative Stocks) : หุ้นที่มีโอกาสสูงที่จะให้ผลตอบแทนต่ำมากหรือติดลบ และมีโอกาสต่ำที่จะให้ผลตอบแทนปกติหรือสูงมาก มักเป็นหุ้นของกิจการที่สินทรัพย์มีความเสี่ยงสูง หรือหุ้นที่ผู้ลงทุนมีความเห็นเชิงบวกมากว่ากิจการจะสร้างผลการดำเนินงานสูง ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจนสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรระยะสั้น เพราะราคาเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน
ปัจจัยที่ 3 แบ่งตามสไตล์ของหุ้น
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
หุ้นคุณค่า (Value Stocks) : หุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมตามทฤษฎี (ของดี ราคาถูก) เหมาะสำหรับลงทุนระยะยาว ลักษณะเด่นของหุ้นประเภทนี้ คือ เป็นหุ้นที่เน้นอัตราเงินปันผลสูง แต่กิจการมักจะมีผลการดำเนินงานเติบโตไม่โดดเด่น หรืออาจเติบโตเต็มที่แล้ว ทำให้ผู้ลงทุนตีราคาหุ้นต่ำหรือไม่สนใจซื้อขาย จึงทำให้ราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม
หุ้นเติบโต (Growth Stocks) : หุ้นที่มีราคาสูง (ของดี ราคาสูง) ส่วนใหญ่เป็นหุ้นของกิจการที่มีสัญญาณการขยายตัวของรายได้และกำไรเหนือกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมหรือตลาดโดยรวม เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงจากการผันผวนของการลงทุนได้
ปัจจัยที่ 4 แบ่งตามมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด
ตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีหุ้นจดทะเบียนเป็นจำนวนมาก จะแบ่งหุ้นตามมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด (Market Capitalization) ได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่
Mega-cap Stocks : มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดสูงกว่า 100,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
Large-cap Stocks : มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดสูงกว่า 10,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
Mid-cap Stocks : มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดระหว่าง 2,000 – 10,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
Small-cap Stocks : มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดระหว่าง 300 – 2,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
Micro-cap Stocks : มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดระหว่าง 50 – 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
Nano-cap Stocks : มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดต่ำกว่า 50 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
สำหรับตลาดหุ้นไทย สามารถจะแบ่งหุ้นออกเป็น 3 ประเภท โดยคร่าวๆ ได้แก่
Large-cap Stocks : ได้แก่ หุ้นที่เป็นส่วนประกอบของ SET50 Index
Mid-cap Stocks : ได้แก่ หุ้นในลำดับที่ 51-100 ใน SET100 Index
Small-cap Stocks : ได้แก่ หุ้นที่ไม่ใช่ส่วนประกอบของ SET 100 Index
ปัจจัยที่ 5 แบ่งตามถิ่นฐานของผู้ลงทุนและตลาดหลักทรัพย์ที่หุ้นของกิจการจดทะเบียนอยู่
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
หุ้นในประเทศ (Domestic Stocks) : หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศที่ผู้ลงทุนมี
ถิ่นฐานอยู่ ผู้ลงทุนมักคุ้นเคยกับกิจการ การเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารเพื่อการลงทุน รวมทั้งการวิเคราะห์ทำได้ง่ายและไม่มีความเสี่ยงโดยตรงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนจึงมีแนวโน้มที่จะจัดสรรเงินลงทุนส่วนใหญ่ในหุ้นในประเทศ
หุ้นต่างประเทศ (Foreign / International / Global Stocks) : หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นอกประเทศถิ่นฐานของผู้ลงทุน ผู้ลงทุนมักจัดสรรเงินลงทุนส่วนหนึ่งในหุ้นต่างประเทศเพื่อประโยชน์ของการกระจายความเสี่ยง และแสวงหาโอกาสลงทุนที่แตกต่างไปจากประเภทของอุตสาหกรรม กิจการ หรือหุ้นที่มีให้เลือกลงทุนในประเทศ
ปัจจัยที่ 6 แบ่งตามประเภทของตลาดที่ซื้อขายหุ้น
แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
หุ้นที่ไม่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity) : หุ้นที่ไม่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือเคยจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่นำออกจากตลาดหลักทรัพย์เพื่อปรับปรุงกิจการและอาจนำกลับเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ภายหลัง
หุ้นที่ซื้อขายในตลาดแรก (Primary Stocks) : หุ้นออกใหม่ที่กิจการนำมาเสนอขายเป็นครั้งแรก กิจการเป็นผู้ได้รับเงินจากการขายหุ้นโดยตรง
หุ้นที่ซื้อขายในตลาดรอง (Secondary Stocks) : หุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนซื้อขายเปลี่ยนมือผ่านตลาดหลักทรัพย์
การเข้าใจปัจจัยที่ใช้แบ่งประเภทและหุ้นประเภทต่างๆ มีความสำคัญอย่างไร
นอกจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) เพื่อหามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ของหุ้นและการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) เพื่อจับจังหวะลงทุนแล้ว ความเข้าใจในประเภทของหุ้นจัดว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของการลงทุนในหุ้น ซึ่งพฤติกรรมราคาหุ้นแต่ละประเภทจะแตกต่างกันตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป หุ้นขนาดเล็กกับหุ้นขนาดใหญ่ให้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน หุ้นเติบโตให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว แต่เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หุ้นบางตัวจัดเป็นหุ้นคุณค่าในช่วงเวลาหนึ่งและเมื่อเวลาผ่านไปหุ้นนั้นมีคุณสมบัติเปลี่ยนไปเป็นหุ้นเติบโตผู้ลงทุนสามารถใช้ประโยชน์ของการแบ่งประเภทหุ้น เข้าเลือกลงทุนตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะตัวของผู้ลงทุน ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างมีหลักการและสามารถตอบตนเองได้ว่า... เหตุใดจึงซื้อหุ้นประเภทนั้นๆ เมื่อใดควรขายทำกำไรหรือสับเปลี่ยนประเภทหุ้น และท้ายที่สุดจะทราบว่ากำไรหรือขาดทุนเกิดขึ้นเพราะอะไร

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การลงทุนกับความรู้เป็นของคู่กัน โดย สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.

           บทความที่จะได้อ่านนี้ เป็นบทความที่แนะนำเราให้ทราบว่า หากสนใจและต้องการลงทุนให้ประสบความสำเร็จนั้น มีปัจจัยอะไรบ้างที่ต้องรู้ ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง และพัฒนาความรู้ของเรา เพื่อความพร้อมสู่การเป็นนักลงทุนคุณภาพ
      
           ผู้ลงทุนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นมือใหม่ คงมีคำถามอยู่ในใจว่า เราควรมีความรู้ในเรื่องอะไร รู้มากขนาดไหนจึงจะสามารถลงทุนแล้วประสบความสำเร็จ แต่ถ้าท่านนำคำถามนั้นมาถาม ก
... จะได้รับคำตอบว่าสูตรสำเร็จของเรื่องที่ต้องรู้เพื่อการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่
(1) รู้จักสิ่งที่ลงทุนหรือจะลงทุน
(2)รู้รอบด้านในเรื่องที่มีผลกระทบต่อการลงทุนหรือมีนิสัยใฝ่รู้ และ
(3) รู้จักตัวเอง
ยังไม่มีความรู้เลย จะลงทุนได้ไหม?
คำถามนี้ไม่ได้มาจากท่านคนเดียว เมื่อปลายปี
2553 ... ได้ทำการสำรวจระดับความรู้ความเข้าใจในการลงทุนของประชาชน ด้วยการสอบถามกลุ่มตัวอย่างจากทั่วประเทศ 966 คน ซึ่งมีทั้งผู้ลงทุนปัจจุบันผู้ที่คาดว่าจะลงทุนในอีก 12 เดือนข้างหน้า และผู้ที่เคยลงทุนแต่เลิกลงทุนไปแล้ว ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าตลาดทุนเป็นทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินกับธนาคาร แต่ก็ไม่มีความมั่นใจที่จะลงทุนในตลาดทุน เพราะคิดว่าตนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ สำหรับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน 60% ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ลงทุนในปัจจุบันตอบว่าตนมีความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตนเองลงทุนเพียงระดับหนึ่ง และพบอีกว่ากลุ่มผู้ลงทุนปัจจุบันบางส่วนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสินค้า เช่น เข้าใจว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง และที่น่าตกใจคือประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างผู้ลงทุนปัจจุบันไม่สนใจอ่านเอกสารประกอบการลงทุน เช่น หนังสือชี้ชวน งบการเงิน รายงานกองทุนรวมในส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่คาดว่าจะลงทุนเร็ว ๆ นี้ มีความสนใจที่จะลงทุนในกองทุนรวมและหุ้นตามลำดับแต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะศึกษาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจก่อนการลงทุนเพื่อให้สามารถตัดสินใจลงทุนด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้ลงทุนในปัจจุบันและผู้ที่คาดว่าจะลงทุนในเร็ว ๆ นี้ ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาข้อมูลและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญการลงทุน ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน และพนักงานธนาคารในการตัดสินใจลงทุนถ้าอย่างนั้นก็ต้องเริ่มมีความรู้ตั้งแต่วันนี้
การพัฒนาความรู้ของผู้ลงทุนให้สามารถลงทุนได้อย่างผู้รู้และดูแลปกป้องตนเองได้อย่างเหมาะสม เป็นภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของ ก... ที่ผ่านมา ก... ได้ดำเนินการให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ความรู้ผู้ลงทุน (www.sec.or.th/education) เอกสารเผยแพร่ รายการสารคดีสั้นทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงบูธนิทรรศการในงาน Expo การลงทุนต่าง ๆสาระความรู้ที่... มุ่งนำเสนอหวังผลให้เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ลงทุน ไม่ได้หวังเพียงแค่ให้มีจำนวนผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นในตลาดทุน แต่ต้องการให้มีผู้ลงทุนคุณภาพ รู้จักเครื่องมือและรู้วิธีที่จะปกป้องประโยชน์ของตนเอง หรือแม้ว่าบางครั้งจะประสบผลขาดทุนก็สามารถเข้าใจถึงที่มาที่ไปของเหตุนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำอีก
รู้จักตนเอง สำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้เรื่องอื่น
การรู้จักตนเอง โดยรู้ว่ามีเป้าหมายการลงทุนอย่างไร ต้องการได้ผลตอบแทนในระยะสั้นหรือยาว และที่สำคัญรู้ว่าตนเองสามารถยอมรับความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะไม่ได้ผลตอบแทนกลับคืนมาตามที่คาดไว้ได้มากน้อยแค่ไหน ถือเป็นความรู้พื้นฐานที่จะช่วยให้เราวางแผนการลงทุนหรือเลือกช่องทาง
/สินค้าการลงทุนได้เหมาะสมกับตนเองซึ่ง ก... ก็มีตัวช่วยสำหรับผู้ที่อยากประเมินตนเองว่าเหมาะกับการลงทุนแบบไหน โดยจัดทำแบบสอบถามออนไลน์ไว้ที่ www.sec.or.th/education/วางแผนการลงทุน
และในอนาคตอันใกล้ ถ้าอยากเข้าไปลงทุนในกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) และตัวแทนขายหน่วยลงทุนจะมีแบบสอบถามให้ทำเพื่อสำรวจและประเมินระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าผู้ลงทุนท่านนั้นเหมาะกับการลงทุนในกองทุนรวมประเภทใด เพื่อที่จะให้คำแนะนำได้ถูกต้อง ผู้ออมและผู้ลงทุนคุณภาพ บันไดสู่ยุทธศาสตร์ชาติ
... ได้กำหนดให้แผนกลยุทธ์ปี 2554 ให้น้ำหนักกับภารกิจการให้ความรู้เรื่องการลงทุนในตลาดทุน รวมทั้งจะเน้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัทที่เสนอขายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ ตัวแทนขายสินค้าในตลาดทุน ทำบทบาทการให้ข้อมูลและความรู้แก่ผู้ลงทุนและลูกค้าของตนมากขึ้น และ
... จะร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผลักดันให้การให้ความรู้เรื่องการออมและการลงทุน (financialliteracy) เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนในวงกว้างและมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบซึ่งจะเป็นบันไดสู่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรในประเทศต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

หนังสือการลงทุน โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

          เอาล่ะ เมื่อตัดสินใจแล้วว่าต้องการจะลงทุนในหุ้น เราก็ต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหุ้นให้มาก ๆ เสียก่อนเพื่อจะได้เข้าใจในธรรมชาติของหุ้น และเข้าใจความต้องการของตนเองซึ่งอันนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าเรารู้และเข้าใจว่าเราชอบแบบไหน หรือสไตล์ของเราเป็นแบบไหน เราจะได้เลือกศึกษาหาข้อมูลให้ถูกกับจริตของเรานั่นเอง สำหรับแหล่งความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้น ปัจจุบันมีมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลแบบฟรี(ทาง website) หรือแบบที่ต้องลงทุนซื้อมา(หนังสือการลงทุน) หรือลงทุนไปสมัครเข้ารับการอบรมก็ตาม ที่นี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วล่ะ ที่จะต้องเก็บเกี่ยวความรู้ให้เต็มยุ้งก่อนลุย และนี่ก็เป็นบทความที่แนะนำเกี่ยวกับการเลือกอ่านหนังสือการลงทุน ของดร.นิเวศน์ฯ ที่อ่านแล้วช่วยให้เราตัดสินใจเลือกซื้อหนังสือมาอ่านได้ตรงกับความต้องการของเรา
สองสามปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ต้องถือว่าเป็นยุคทองของการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้น สูงลิ่วเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลจากความเฟื่องฟูของ ตลาดทำให้นักลงทุนสามารถทำกำไรจากตลาดหุ้นมหาศาล บางคนกลายเป็นคนร่ำรวย หรือเป็น "เศรษฐี" จากการซื้อขายหุ้น หลายคนอายุยังน้อยและไม่ได้ลงทุนมานานนัก หุ้นกลายเป็น "สิ่งมหัศจรรย์" ที่ทำให้คนรวยได้ง่ายดาย โดยไม่ต้องทำงานหนัก "ฮีโร่" นักลงทุนเกิดขึ้นคนแล้วคนเล่า เช่นเดียวกับ "อัจฉริยะ" ด้านการลงทุน ทั้งหมดนี้ดึงดูดให้ผู้คนจำนวนมาก หันมาสนใจการลงทุนในหุ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ "หนังสือการลงทุน" ที่ออกมามากมาย และมียอดขายติดอันดับหนังสือขายดี บางช่วงและบางร้าน ว่ากันว่าจำนวนหนังสือขายดี 20 อันดับ เป็นหนังสือการลงทุนถึง 4-5 เล่ม ลองมาดูว่าหนังสือเหล่านี้เป็นอย่างไร

หนังสือการลงทุนที่ขายดีและมีจำนวนมากที่สุด คือ หนังสือ "แนว VI" หรือแนวเน้นคุณค่า เพราะนี่คือแนวการลงทุนที่กำลังได้รับความนิยมสูง เพราะเป็นวิธีการลงทุนที่มีเหตุมีผลอธิบายให้เข้าใจได้ตามหลัก "วิทยาศาสตร์" แต่ที่สำคัญ คือ เป็นแนวการลงทุนที่ใช้ โดยนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ "สูงที่สุด" ของโลก อย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ นี่คือวิธีการลงทุนที่ Value Investor ของไทยจำนวนมากใช้แล้วประสบความสำเร็จ สร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ จนหลายคนกลายเป็นเศรษฐีและบางคน เขียนเป็นหนังสือเผยแพร่วิธีการที่ตนเองใช้แล้วประสบความสำเร็จ

กลุ่มหนังสือแนว VI กลุ่มแรกเป็นหนังสือแปล ที่มักจะเรียบเรียงจากหนังสือที่มีชื่อเสียงขายดีระดับโลก เน้นหลักการและวิธีการลงทุนของนักลงทุนมืออาชีพ และยังมีหนังสือที่เขียนโดยนักวิชาการที่ศึกษาการลงทุน และส่วนมากอาจเกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น หนังสือของ เบน เกรแฮม และฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ เป็นต้น หนังสือเหล่านี้ ส่วนใหญ่ให้ความรู้ และหลักการที่ผมคิดว่าเป็นมาตรฐานสูง ได้รับการพิสูจน์มาช้านานในระดับโลก ซึ่งบ่อยครั้งเจ้าตัวไม่ได้เขียนเอง ดังนั้นการวิเคราะห์ตีความจึงอาจจะผิดเพี้ยนไปได้ และทำให้คนอ่านเข้าใจผิดได้เหมือนกัน และหนังสือแปลอาจทำให้ความสละสลวย และความราบรื่นของภาษาลดลง เช่นเดียวกัน สภาพแวดล้อมที่แตกต่าง รวมถึงตัวหุ้นที่อาจกล่าวถึงเป็นสิ่ง "ไกลตัว" ทำให้ความ "น่าอ่าน" ลดลง หนังสือแปลนั้น มักมีการ "คัดสรร" มาหลายชั้น ดังนั้น ความ"เสียหาย" หรือ "เสียเวลา" จากการอ่านน่าจะมีไม่มาก

หนังสือ "แนว VI" ที่เขียนขึ้นเอง โดยนักเขียนไทยเริ่มมีมากขึ้น ความที่เขียนโดยคนไทย และเขียนโดยอิงและใช้ข้อมูลในตลาดหุ้นไทย ทำให้หนังสือน่าสนใจ และเราก็คิดว่า นี่คือหนังสือที่บอกวิธีและน่าจะใช้ได้กับหุ้นไทยมากกว่าหนังสือแปลที่อิง หุ้นและตลาดต่างประเทศเป็นหลัก นี่คือจุดแข็ง นักเขียนไทยส่วนใหญ่มักเป็น "นักเขียน" ดังนั้นสิ่งที่เขียนจึงจะมาจากการศึกษา "ศาสตร์ด้านการลงทุน" มากกว่าเป็นเรื่องประสบการณ์จริงในการลงทุน แต่ปัญหาใหญ่คือ ไม่มี "ศาสตร์" ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การเขียนเรื่องการลงทุนจำนวนไม่น้อย จึงมักใช้หลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับหลายๆ อย่าง ผสมผสานกับจินตนาการของผู้เขียน ถ้าเราอ่านโดยคิดว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องและเราเชื่อ ความคิดเราจะผิดไปโดยไม่รู้ตัว

แม้แต่นักเขียนที่เป็นนักลงทุนที่ "ประสบความสำเร็จสูง" (รวมถึงผมด้วย) ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้สิ่งที่เขียนถูกต้อง เหตุผลคือ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น อาจ "ฟลุ้ค" หรือเป็นเรื่องที่ "รับความเสี่ยงมากกว่าปกติ" นั่นคือ วิธีการหรือกลยุทธ์ที่อ้างว่าสร้างผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม อาจจะดีเพราะเป็นช่วงเวลาที่ตลาด หรือหุ้นบางประเภทเหมาะสมกับกลยุทธ์แบบนั้น แต่ถ้านำไปใช้ในอีกสถานการณ์หนึ่งผลตอบแทนอาจจะไม่ดีก็ได้ เช่น หุ้น "VI" อาจให้ผลตอบแทนสูงช่วงที่ผ่านมา 10 ปี แต่ในอนาคต 10 ปีข้างหน้าอาจให้ผลตอบแทนต่ำ ตลาดหุ้นที่ก่อตั้งมายาวนานอย่างในอเมริกาก็พบว่าบางช่วง หุ้น "VI" ให้ผลตอบแทนย่ำแย่เมื่อเทียบกับหุ้นแบบอื่น ดังนั้นการอ่านหนังสือที่เขียนโดยนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นไทย จริงๆ ก็ไม่จำเป็นที่เราต้องเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ เขาสำเร็จจริงหรือไม่ ทำมานานแค่ไหน มีโอกาสแค่ไหนที่ความบังเอิญ หรือรับความเสี่ยงสูงเกินไป เป็นต้น

หนังสือกลยุทธ์การลงทุนอีกกลุ่ม หนึ่งที่วางขายกันมาก คือแนว "เทคนิค" นี่คือหนังสือที่บอกว่า จะใช้จังหวะเข้าซื้อขายหุ้นตอนไหน ซึ่งจะบอกจังหวะ "เข้าตลาด" นั่นคือเข้าไปซื้อหุ้นในตลาด โดยดูจากดัชนีและปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดโดยรวม และจังหวะเข้าซื้อหุ้นเป็นรายตัวโดยดูจาก "สัญญาณ" เกี่ยวกับตัวหุ้นโดยเฉพาะราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นตัวนั้นที่ผ่านมา

ปัญหาของหนังสือแนวเทคนิคคือ มักเขียนจาก "สิ่งที่ผ่านมาแล้ว" ที่สอดคล้องกับความคิดและวิธีการของตน เพื่อสรุปแนวทางของตนถูกต้อง ส่วนที่ไม่ตรงนั้นไม่ถูกกล่าวถึง ดังนั้นถ้าเรานำวิธีการนั้นไปใช้กับหุ้นตัวใหม่ หรือในสถานการณ์ใหม่ เราอาจจะผิดได้ง่ายๆ แม้แต่หลักการที่มีการแปลมาจากหนังสือต่างประเทศ "ไม่นิ่ง" นั่นคือ ช่วงเวลาหนึ่งวิธีหนึ่งอาจใช้ได้ผล แต่เมื่อเวลาผ่านไป วิธีนั้นก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป หนังสือเกี่ยวประเภทนี้ ผมคิดว่าคนอ่านต้องเข้าใจ อาจไม่ใช่ของจริง และมีวงจรชีวิตสั้น

หนังสือแนวสุดท้ายที่เขียนกันมาก คือ "การบริหารเงินส่วนบุคคล" หนังสือแนวนี้ พูดถึงการออมเงินและจัดสรรเงินลงทุนตามหลักวิชาการ ที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การกระจายความเสี่ยงของการลงทุน โดยการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ ทรัพย์สินเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน นี่คือหนังสือที่ไม่ได้เน้น "นักลงทุนผู้มุ่งมั่น" ที่อยากจะรวยจากการลงทุน แต่เน้นคนชั้นกลางธรรมดาที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีขึ้น กับเงินที่เก็บออมเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณ หนังสือแนวนี้จะเป็นประโยชน์ โดยเข้าใจถึงการบริหารเงินที่เน้นความปลอดภัยและใช้ชีวิตที่ไม่เครียดกับการ ลงทุน

ข้อสรุปสุดท้ายของผม คือ การอ่านหนังสือการลงทุน เราต้องเลือกอ่านอย่าง "ชาญฉลาด" ถ้าเลือกผิด หรือไม่เข้าใจข้อจำกัด เราอาจเสียเวลา หรือถ้าเลวร้ายก็จะได้ความรู้ที่ผิด ซึ่งจะเป็นอันตรายกับการลงทุน การเลือกหนังสือลงทุน ผมคิดว่า ต้องทำเหมือนกับการเลือกหุ้นลงทุน คือเลือกหนังสือให้ถูก ถ้าทำได้ ความสำเร็จก็เกินครึ่งไปแล้ว

วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ไม่มีคำว่าสาย ของดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

          ได้อ่านบทความของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ที่ให้ความรู้และแนวคิดในการลงทุนที่ดี สำหรับคนที่มีอายุมาก ทำให้รู้สึกอยากลงทุน แต่ก็นั่นแหละการลงทุนในหุ้นนั้น ประโยคที่เราได้ยินและจำขึ้นใจนั่นก็คือ "การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน" ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ทุกประการ เอาน่า ก็อย่างที่ ดร. นิเวศน์ฯ ท่านบอกว่า"ไม่มีคำว่าสาย" ดังนั้น ก่อนคุณจะตัดสินใจลงทุนคุณต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับหุ้นให้เข้าใจเสียก่อน และเมื่อคุณพร้อมเมื่อไร ก็ค่อยลงทุนก็ยังไม่สาย
"ในเรื่องของการลงทุนในหุ้นนั้น  นักวิชาการจำนวนมากมักจะบอกว่ามันเป็นเรื่องที่  เสี่ยง  กว่าการลงทุนในพันธบัตร  เงินฝากธนาคาร  หุ้นกู้  เพราะที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเงินต้นจะยัง  อยู่ครบ  เสมอ  พร้อมกับดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแน่นอน   นอกจากนั้น  หุ้นก็ยังถูกมองว่ามีความเสี่ยงกว่าที่ดินหรือทองคำในสายตาของคนทั่วไปในแง่ที่ว่า   ทั้งสองอย่างนั้น  จับต้องได้และไม่สึกหรอ  และมันรักษาคุณค่าของมันได้เสมอ  ราคาทองคำและที่ดินมีแต่จะ  เพิ่มขึ้น  แม้ว่าในช่วงหลังนี้ราคาทองคำอาจจะมีการ ปรับตัวลงบ้างในระยะสั้น ๆ  แต่ในระยะยาวแล้ว  มัน ไม่เสี่ยง  ผิดกับหุ้นที่ราคาขึ้นลงทุกวัน   หุ้นบางตัวนั้น   ราคาตกลงไปมากในเวลาสั้น ๆ  จนแทบจะหมดค่า   หุ้นสำหรับบางคนนั้นคงเหมือนกับ  กระดาษ  ที่ราคาขึ้นลงได้รวดเร็ว  บางครั้งขึ้นไปหลายเท่าได้ในเวลาอันสั้น   แต่บางครั้งก็สามารถตกลงมาได้มากมายแทบจะไม่มีค่าเหมือน  กระดาษ   ดังนั้น  หุ้นจึงเป็นอะไรที่ เสี่ยงมาก
           ข้างต้นนั้นก็เป็นการวิเคราะห์เรื่องของความเสี่ยงในบางมิติ  นั่นก็คือ  เป็นการวิเคราะห์โดยอิงอยู่กับการลงทุน  ระยะสั้น  และเป็นการมองทรัพย์สินหรือหุ้นเป็น  รายตัว  แต่ถ้าเรามองการลงทุนเป็น  ระยะยาว  และลงทุนในทรัพย์สินหรือหุ้นเป็นแบบ  พอร์ตโฟลิโอ  หรือกระจายการลงทุนโดยการถือทรัพย์สินหรือหุ้นเป็นกลุ่ม   เรื่องของความเสี่ยงก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง  เหตุผลสำคัญก็คือ  ในระยะยาวแล้ว  มิติสำคัญที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกตัวหนึ่งก็คือ  อัตราเงินเฟ้อ  เพราะนี่จะทำให้เงินมีค่าลดลงแม้ว่าเม็ดเงินของเราจะยังอยู่ครบ  ตัวอย่างเช่น  ถ้าสมมุติว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อเท่ากับปีละ 3%  แต่เงินลงทุนของเราได้ผลตอบแทนปีละ 2%  เมื่อครบ 20 ปี  เงินลงทุนของเราจะโตขึ้นจาก 100 บาท  เป็น  149 บาท  แต่ในวันนั้น  สินค้าจะขึ้นราคาจาก 100 บาท  เป็น 181 บาท  ทำให้เรา  ขาดทุน 32 บาท หรือซื้อของได้น้อยลงไปประมาณ 18%  และนี่ก็คือความเสี่ยงของการถือทรัพย์สินที่มีมูลค่าคงที่แต่ไม่เติบโตหรือเติบโตช้ากว่าเงินเฟ้อในระยะยาว
             มิติของการลงทุนแบบ  พอร์ตโฟลิโอ  นั้น   ช่วยให้การลงทุนมี  ความผันผวน  น้อยลงมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  การลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่นนั้น  อาจจะมองได้ไม่ชัด   แต่การลงทุนในหุ้นนั้น  ถ้าเราลงทุนในหุ้นเพียงตัวเดียว  ความเสี่ยงจะสูงมาก  เนื่องจากหุ้นตัวนั้นอาจจะประสบปัญหารุนแรงได้  กิจการอาจจะเจ๊งไปและทำให้ราคาหุ้นกลายเป็นศูนย์   แต่ถ้าเราถือหุ้นหลาย ๆ  ตัว  โอกาสที่ทุกกิจการจะล้มละลายมีน้อยมาก  ดังนั้น  ราคาของหุ้นก็จะคละเคล้ากันไป  บางตัวดี  บางตัวอาจจะไม่ค่อยดี  แต่โดยรวมแล้ว  ราคาหุ้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปไม่มากนัก   อย่างไรก็ตาม  ในระยะสั้น  แม้ว่าเราจะถือหุ้นเป็นพอร์ตหลาย ๆ  ตัวหรือถือกองทุนรวมที่มีหุ้นจำนวนมาก  มูลค่าหุ้นก็อาจจะลดลงได้เนื่องจากปัจจัยร้อยแปด   แต่ในระยะยาวแล้ว  มูลค่าหุ้นโดยรวมก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย  และถ้าเราสามารถถือหุ้นได้ถึง 20 ปี  โอกาสที่มูลค่าหุ้นจะลดลงนั้นน้อยมาก  ในทางตรงกันข้าม  โอกาสที่หุ้นจะขึ้นไปสูงจะมีมาก  โดยเฉลี่ยแล้ว  ผลตอบแทนจะอยู่ที่ประมาณ  10% ต่อปี  เงิน  100 บาทจะกลายเป็นประมาณ 673 บาทในเวลา 20 ปี  เทียบกับการฝากเงินที่เราจะได้ประมาณ 149 บาทแล้ว  ต้องบอกว่าการลงทุนในหุ้นนั้น  ดีกว่ามากถ้าเรามีเวลาลงทุนถึง 20 ปี หรือเป็นการลงทุนระยะยาว
             ข้อสรุปในขั้นนี้ก็คือ  ถ้าเรามีเวลาลงทุนถึง 20 ปีแล้ว  การลงทุนในหุ้น  โดยการลงทุนแบบเป็นพอร์ตโฟลิโอหรือถือกองทุนรวม  จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดโดยที่มีความเสี่ยง  ต่ำที่สุด  และนี่ทำให้เราควรถือหุ้นเป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินอย่างอื่น  มากเท่าไรนั้นคงขึ้นอยู่กับความมั่งคั่งและความรู้เกี่ยวกับการลงทุนของแต่ละคน  แต่ใจผมคิดว่าอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 50%  ของทรัพย์สมบัติที่มีอยู่  และคนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนเป็นอย่างดีจะมีหุ้นเกิน 90%  ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
            ประเด็นสำคัญต่อมาก็คือ  คนมักจะคิดว่าตนเองแก่แล้วหรือมีอายุมากแล้ว  การลงทุนในหุ้นอาจจะเป็นเรื่องที่  สายเกินไป  แล้ว  เขาไม่มีเวลา  10 หรือ 20 ปี ที่จะทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องที่  ไม่เสี่ยง  ดังนั้น  เขาขอฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรดีกว่า  นี่อาจจะเป็นเรื่องที่  ผิดพลาด  เรามาดูกันว่าเพราะอะไร?
            เรื่องที่ทำให้คนคิดผิดน่าจะอยู่ที่ประเด็นของ  อายุเกษียณ  หรือเวลาเลิกทำงานที่มักกำหนดไว้ที่ 60  ปี  นี่ทำให้เรารู้สึกว่าเราแก่แล้วตั้งแต่อายุใกล้เกษียณที่ 50 ปีขึ้นไป  แต่ความเป็นจริงก็คือ  อายุของคนกำลังยืนขึ้นเรื่อย ๆ  เช่นเดียวกับสุขภาพก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ  และผมคิดว่า  คนรุ่นนี้จำนวนมากน่าจะมีอายุถึง 80 ปีขึ้นไปก่อนตาย  นอกจากนั้น  ความสามารถในการลงทุนในหุ้นก็น่าจะทำได้จนถึงอายุ 80 ปี  และนี่ทำให้ผมคิดว่าการวางแผนเกี่ยวกับการลงทุนของเรานั้น  เราควรกำหนดว่าเราจะลงทุนจนถึงอายุ 80 ปี  และถ้าเป็นเช่นนั้น  คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่เกษียณในวันนี้หรือแม้แต่คนที่กำลังเกษียณจึงมีเวลาที่จะลงทุนอีกถึง 20 ปี  ซึ่งทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
             คำแนะนำของผมสำหรับคนที่คิดว่าตนเอง  แก่ เกินที่จะเริ่มลงทุนก็คือ  การลงทุน  โดยเฉพาะในแนว  Value Investment นั้น  ไม่ได้ยากหรือใช้พลังอะไรมากมายนักแต่มันใช้ความสุขุมรอบคอบและใจเย็นยึดมั่นศรัทธาในสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้องซึ่งสิ่งเหล่านี้คนมีอายุไม่ได้เสียเปรียบคนหนุ่มสาวเลย  ดังนั้น  คนแก่ทำได้แน่นอน  แต่จริง ๆ  แล้วบางทีคุณอาจจะไม่ได้แก่อย่างที่คุณคิด  และถ้าคุณสามารถลงทุนได้อีกถึง 20 ปี  คุณก็สามารถเริ่ม อาชีพใหม่  นี้ได้แม้ว่าคุณจะอายุ 60 ปีแล้ว  และถ้าคุณทำได้ดี  โอกาสที่คุณจะเป็น  เซียน  และมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมหาศาลก็ยังมีอยู่
             พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง  แอนน์ ไชเบอร์ ซึ่งผมเคยเขียนถึงนานมาแล้วว่า  เธอน่าจะเป็น ไอดอลของนักลงทุน  คนแก่  ทั่วโลก  เพราะเธอเริ่มลงทุนเมื่ออายุ 50 ปี โดยที่เธอเป็นเพียงเสมียนและมีเงินเดือนน้อยมากไม่ต้องพูดถึงความรู้ในการเลือกหุ้น  เธอเริ่มจากเงินประมาณ 5,000 ดอลลาร์ โดยลงทุนซื้อหุ้นที่เป็น  ซุปเปอร์สต็อก ที่ผลิตและขายสินค้าที่เธอรู้จักดีเช่น โคคาโคลา   บริษัทยาเช่นเชอริงพลาวก์  เธอซื้อแล้วก็เก็บ  ติดตามดูกิจการของบริษัทไปเรื่อย ๆ  เมื่อได้เงินปันผลมาก็ลงทุนเพิ่มในหุ้นทบต้นไปเรื่อย ๆ  สุดท้ายในวันที่เธอตาย  ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านเหรียญ ซึ่งเธอบริจาคให้กับโรงพยาบาลหมดเนื่องจากเธอไม่เคยแต่งงานและไม่มีญาติพี่น้อง  สิ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จระดับนั้นก็คือ  เวลาในการลงทุนอีก 51 ปี เพราะเธอตายตอนอายุ 101 ปี และผลตอบแทนที่เธอทำได้คือเฉลี่ยปีละประมาณ 17-18%   ซึ่งก็เป็นผลตอบแทนที่ดีมาก ๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ Value Investor มีโอกาสทำได้
              คนมักจะถามว่า  แก่แล้วจะหาเงินมาก ๆ  ไปทำอะไร  ได้แล้วก็  ไม่มีโอกาสใช้   หรือคนที่มีเงินเก็บ  พอดี ๆ ก็อาจจะกลัวว่าจะขาดทุนจากหุ้นแล้วเงินจะไม่เหลือพอใช้จนตาย   คำตอบของผมก็คือ  เราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร  เราอาจจะคำนวณว่าเราจะตายเมื่ออายุ 80 ปี  แต่เราอาจจะอยู่จนถึง 100 ปีก็ได้   และเมื่อถึงเวลานั้นเรายังจะมีเงินพอใช้หรือไม่?  ดังนั้น  การไม่ลงทุนในหุ้นจึงอาจจะเป็นเรื่องที่เสี่ยงพอ ๆ หรือมากกว่าการลงทุนในหุ้นก็ได้  ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ  มีโอกาสสูงที่คุณควรลงทุนในหุ้นแม้ว่าคุณจะอายุมากแล้ว  ไม่มีคำว่าสายเกินไป "