วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

“รู้จักสไตล์หุ้น... เพื่อเลือกลงทุนให้โดนใจ โดย TSI

       
            เมื่อรู้และเข้าใจตัวเองว่าสไตล์ของเราเป็นแบบไหน  มีเป้าหมายที่จะลงทุนในระยะสั้นหรือระยะยาว ต้องการผลตอบแทนเท่าไร และสามารถที่จะยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน  ต่อไปก็มาทำความรู้จักกับหุ้นแต่ละประเภทกัน เพื่อจะได้ค้นหาหุ้นให้ได้ตรงสไตล์และถูกใจ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้และความเข้าใจ และนี่เป็นบทความที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการแบ่งประเภทและคุณสมบัติของหุ้น เนื้อหาอาจจะยาวไปหน่อย แต่ลองอ่านดูนะ
  
การแบ่งประเภทหุ้นเพื่อการลงทุน
ตราสารทุน” (Equity / Stock) หรือที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่เรียกสั้นๆ ว่า หุ้นคือ ตราสารทางการเงินประเภทหนึ่งที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการ โดยผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้นมีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการนั้นๆ ตามสัดส่วนการถือหุ้น ทั้งยังมีสิทธิได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น... ส่วนแบ่งกำไร (เงินปันผล) และมูลค่าเพิ่มของกิจการ (กำไรจากส่วนต่างราคาซื้อขายหุ้น) จากข้อมูลการลงทุนในอดีต พบว่า... การลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนรวมที่ดีในระยะยาว เหนือการลงทุนในตราสารทางการเงินเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินหรือ
ลงทุนในตราสารหนี้ ทำให้ปัจจุบันมีผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้นิยามของ หุ้นจะดูไม่ซับซ้อน แต่ความหลากหลายขอประเภทผู้ลงทุน รวมทั้งคุณสมบัติของหุ้นแต่ละประเภท อาจทำให้ผู้ลงทุนสับสนได้ ตัวอย่างเช่น ในบางช่วงเวลาผู้ลงทุนมือใหม่อาจได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้เริ่มลงทุนในหุ้นประเภท “Blue Chip” หรือหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดีหรือในบางขณะได้ศึกษาประวัติผู้ลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนประเภท “Value Investor” ที่เน้นลงทุนในหุ้นคุณค่า ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ลงทุนยังพบว่าหุ้นของกิจการหนึ่งๆ สามารถจัดอยู่ในหลายประเภทได้ในเวลาเดียวกันหรือต่างช่วงเวลา เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คำตอบก็คือ การแบ่งประเภทหุ้นทำได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ผู้ลงทุนใช้ในการแบ่งประเภทหุ้น ในที่นี้ขอใช้ 6 ปัจจัยหลัก ได้แก่
ปัจจัยที่ 1 แบ่งตามลำดับสิทธิในการเรียกร้อง
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
หุ้นสามัญ (Common Stocks / Ordinary Shares) : เป็นหุ้นที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่นิยมลงทุน และเป็นหุ้นที่กิจการนิยมนำเข้าเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผู้ถือหุ้นสามัญจะมีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของกิจการและมีสิทธิในการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถือครองอยู่ กรณีที่บริษัทต้องเลิกกิจการและมีการชำระบัญชีโดยการขายทรัพย์สิน ผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับเงินทุนคืนเป็นลำดับสุดท้าย หลังจากที่บริษัทจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิเรียบร้อยแล้ว
  หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stocks) : ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิมีสถานะเป็นเจ้าของกิจการเหมือนผู้ถือหุ้นสามัญแต่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะมีสิทธิบางประเภทที่เหนือกว่าผู้ถือหุ้นสามัญ เช่น กรณีที่กิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับเงินปันผลก่อน และกรณีที่มีการขายสินทรัพย์เมื่อเลิกกิจการผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิก็จะได้รับเงินทุนคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ
ปัจจัยที่ 2 แบ่งตามลักษณะของกิจการ
แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
หุ้นบลูชิป (Blue Chip Stocks) : หุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนไม่ผันผวน ส่วนใหญ่จะใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ มักเป็นหุ้นของกิจการที่จัดตั้งมานาน และมีปัจจัยพื้นฐานดี สะท้อนได้จากสถานะการเงินที่มั่นคง และขีดความสามารถในการดำเนินงานที่ดี โดยสามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาวะเศรษฐกิจดีหรือซบเซา
หุ้นเติบโต (Growth Stocks) : หุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นตัวอื่นๆ ที่มีระดับความเสี่ยงใกล้เคียงกันมักเป็นหุ้นของกิจการที่กำลังเจริญก้าวหน้าและมีผลการดำเนินงานโดดเด่น แต่จะไม่จ่ายเงินปันผลหรือจ่ายในอัตราที่ไม่สูงนัก เนื่องจากกิจการต้องการนำกำไรสะสมไปใช้ในการขยายกิจการ
หุ้นตั้งรับ / หุ้นที่ไม่ตกต่ำตามภาวะตลาด (Defensive Stocks) : หุ้นที่อัตราผลตอบแทนไม่ลดลงหรือลดลงน้อยกว่าการลดลงของอัตราผลตอบแทนของดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ มักเป็นหุ้นของกิจการที่มีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอ ไม่แปรผันตามภาวะเศรษฐกิจมาก มีความเสี่ยงทางธุรกิจและความเสี่ยงทางการเงินต่ำ มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาได้ดีกว่าหุ้นของกิจการในลักษณะอื่นๆ
หุ้นวัฎจักร (Cyclical Stocks) : หุ้นที่อัตราผลตอบแทนเปลี่ยนแปลงมากกว่าอัตราผลตอบแทนของดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ มักเป็นหุ้นของกิจการที่มีผลการดำเนินงานเปลี่ยนแปลงตามวงจรของเศรษฐกิจ เช่น ยอดขายและกำไรสูงมากในช่วงเศรษฐกิจเติบโต แต่ตกต่ำหรือขาดทุนในช่วงเศรษฐกิจ
ซบเซา
หุ้นเก็งกำไร (Speculative Stocks) : หุ้นที่มีโอกาสสูงที่จะให้ผลตอบแทนต่ำมากหรือติดลบ และมีโอกาสต่ำที่จะให้ผลตอบแทนปกติหรือสูงมาก มักเป็นหุ้นของกิจการที่สินทรัพย์มีความเสี่ยงสูง หรือหุ้นที่ผู้ลงทุนมีความเห็นเชิงบวกมากว่ากิจการจะสร้างผลการดำเนินงานสูง ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจนสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรระยะสั้น เพราะราคาเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน
ปัจจัยที่ 3 แบ่งตามสไตล์ของหุ้น
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
หุ้นคุณค่า (Value Stocks) : หุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมตามทฤษฎี (ของดี ราคาถูก) เหมาะสำหรับลงทุนระยะยาว ลักษณะเด่นของหุ้นประเภทนี้ คือ เป็นหุ้นที่เน้นอัตราเงินปันผลสูง แต่กิจการมักจะมีผลการดำเนินงานเติบโตไม่โดดเด่น หรืออาจเติบโตเต็มที่แล้ว ทำให้ผู้ลงทุนตีราคาหุ้นต่ำหรือไม่สนใจซื้อขาย จึงทำให้ราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม
หุ้นเติบโต (Growth Stocks) : หุ้นที่มีราคาสูง (ของดี ราคาสูง) ส่วนใหญ่เป็นหุ้นของกิจการที่มีสัญญาณการขยายตัวของรายได้และกำไรเหนือกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมหรือตลาดโดยรวม เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงจากการผันผวนของการลงทุนได้
ปัจจัยที่ 4 แบ่งตามมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด
ตลาดหุ้นต่างประเทศที่มีหุ้นจดทะเบียนเป็นจำนวนมาก จะแบ่งหุ้นตามมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด (Market Capitalization) ได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่
Mega-cap Stocks : มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดสูงกว่า 100,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
Large-cap Stocks : มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดสูงกว่า 10,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
Mid-cap Stocks : มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดระหว่าง 2,000 – 10,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
Small-cap Stocks : มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดระหว่าง 300 – 2,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
Micro-cap Stocks : มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดระหว่าง 50 – 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
Nano-cap Stocks : มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดต่ำกว่า 50 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
สำหรับตลาดหุ้นไทย สามารถจะแบ่งหุ้นออกเป็น 3 ประเภท โดยคร่าวๆ ได้แก่
Large-cap Stocks : ได้แก่ หุ้นที่เป็นส่วนประกอบของ SET50 Index
Mid-cap Stocks : ได้แก่ หุ้นในลำดับที่ 51-100 ใน SET100 Index
Small-cap Stocks : ได้แก่ หุ้นที่ไม่ใช่ส่วนประกอบของ SET 100 Index
ปัจจัยที่ 5 แบ่งตามถิ่นฐานของผู้ลงทุนและตลาดหลักทรัพย์ที่หุ้นของกิจการจดทะเบียนอยู่
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
หุ้นในประเทศ (Domestic Stocks) : หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศที่ผู้ลงทุนมี
ถิ่นฐานอยู่ ผู้ลงทุนมักคุ้นเคยกับกิจการ การเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารเพื่อการลงทุน รวมทั้งการวิเคราะห์ทำได้ง่ายและไม่มีความเสี่ยงโดยตรงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนจึงมีแนวโน้มที่จะจัดสรรเงินลงทุนส่วนใหญ่ในหุ้นในประเทศ
หุ้นต่างประเทศ (Foreign / International / Global Stocks) : หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นอกประเทศถิ่นฐานของผู้ลงทุน ผู้ลงทุนมักจัดสรรเงินลงทุนส่วนหนึ่งในหุ้นต่างประเทศเพื่อประโยชน์ของการกระจายความเสี่ยง และแสวงหาโอกาสลงทุนที่แตกต่างไปจากประเภทของอุตสาหกรรม กิจการ หรือหุ้นที่มีให้เลือกลงทุนในประเทศ
ปัจจัยที่ 6 แบ่งตามประเภทของตลาดที่ซื้อขายหุ้น
แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
หุ้นที่ไม่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Private Equity) : หุ้นที่ไม่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือเคยจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่นำออกจากตลาดหลักทรัพย์เพื่อปรับปรุงกิจการและอาจนำกลับเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ภายหลัง
หุ้นที่ซื้อขายในตลาดแรก (Primary Stocks) : หุ้นออกใหม่ที่กิจการนำมาเสนอขายเป็นครั้งแรก กิจการเป็นผู้ได้รับเงินจากการขายหุ้นโดยตรง
หุ้นที่ซื้อขายในตลาดรอง (Secondary Stocks) : หุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนซื้อขายเปลี่ยนมือผ่านตลาดหลักทรัพย์
การเข้าใจปัจจัยที่ใช้แบ่งประเภทและหุ้นประเภทต่างๆ มีความสำคัญอย่างไร
นอกจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) เพื่อหามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ของหุ้นและการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) เพื่อจับจังหวะลงทุนแล้ว ความเข้าใจในประเภทของหุ้นจัดว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของการลงทุนในหุ้น ซึ่งพฤติกรรมราคาหุ้นแต่ละประเภทจะแตกต่างกันตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป หุ้นขนาดเล็กกับหุ้นขนาดใหญ่ให้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน หุ้นเติบโตให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นในภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว แต่เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หุ้นบางตัวจัดเป็นหุ้นคุณค่าในช่วงเวลาหนึ่งและเมื่อเวลาผ่านไปหุ้นนั้นมีคุณสมบัติเปลี่ยนไปเป็นหุ้นเติบโตผู้ลงทุนสามารถใช้ประโยชน์ของการแบ่งประเภทหุ้น เข้าเลือกลงทุนตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะตัวของผู้ลงทุน ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างมีหลักการและสามารถตอบตนเองได้ว่า... เหตุใดจึงซื้อหุ้นประเภทนั้นๆ เมื่อใดควรขายทำกำไรหรือสับเปลี่ยนประเภทหุ้น และท้ายที่สุดจะทราบว่ากำไรหรือขาดทุนเกิดขึ้นเพราะอะไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น