วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

สูตร(ไม่ลับ) ของคุณธันวา เลาหศิริวงศ์

        วันนี้เลือกบทความของคุณธันวา เลาหศิริวงศ์ ที่ให้สูตร(ไม่ลับ)ในการคำนวณผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นแบบทบต้น ซึ่งเป็นความสัมพันธระหว่างเงินลงทุนกับระยะเวลาการลงทุน อ่านแล้วทำให้เราสามารถคาดการณ์มูลค่าเงินในอนาคตได้ง่ายขึ้น และเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจลงทุน ลองอ่านนะ

การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ เพื่อไม่ต้องมีชีวิตอยู่อย่างขัดสนในวัยหลังเกษียณ การลงทุนแบบเน้นคุณค่าเป็นทางเลือกหนึ่งของการวางแผนทางการเงิน โดยแก่นการลงทุนคือ การมองหาคุณค่าเชิงเศรษฐกิจของกิจการในระยะยาว และพิจารณาเข้าลงทุนหลังจากประเมินมูลค่าด้วยปัจจัยพื้นฐาน หากพบว่าราคาที่ซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง Intrinsic Value) หรือราคาที่เหมาะสมมาก กิจการนั้นจะมีส่วนต่างความปลอดภัยสูง Margin of Safety) มีความเสี่ยงต่ำและมีโอกาสสูงที่จะได้ผลตอบแทนดีในการลงทุน
          สูตรคำนวณแบบทบต้น Compounding) ทำให้คาดการณ์มูลค่าเงินในอนาคตได้ง่ายขึ้น กล่าวคือ มูลค่าเงินในอนาคต fv) = C * (1+i) ^ n  หากคุ้นเคยโปรแกรมสำเร็จรูป excel ก็ใช้ฟังก์ชั่น =fv(rate, nper, pmt, pv) มาดูกันว่าตัวแปรที่สำคัญมีอะไรบ้าง
          C, pv คือ เงินเริ่มต้นหรือเงินลงทุนปัจจุบัน คำถามยอดฮิตจากผู้เริ่มสนใจลงทุนก็คือ ต้องมีเงินลงทุนเริ่มต้นเท่าไหร่ คำตอบก็คือไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับศักยภาพและการจัดสรรเงินลงทุนของแต่ละคน นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มด้วยจำนวนเงินไม่มาก แต่เมื่อศึกษาและเข้าใจในกิจการอย่างดีแล้ว จะมั่นใจในการจัดสรรเงินลงทุนในสัดส่วนที่สูงขึ้น การลงทุนตามคนอื่นโดยไม่ศึกษาด้วยตนเอง จะทำให้ไม่กล้าลงทุนในปริมาณมากและอาจพลาดโอกาสในการได้ผลตอบแทนที่ดี  
          n, nper คือระยะเวลาในการลงทุน คำถามคือ ควรเริ่มลงทุนเมื่อไร คำตอบก็คือ เมื่อพร้อมและสนใจศึกษาการลงทุนอย่างจริงจัง ตัวแปร n หรือ nper นี้เป็นตัวเลขยกกำลังในสูตรซึ่งหมายถึง การเพิ่มแบบเท่าทวีคูณ  ดังนั้น หากมีระยะเวลาลงทุนมากก็จะได้ประโยชน์จากการลงทุนทบต้นมากทวีคูณ จึงเป็นการยืนยันคำพูดที่ว่า เริ่มก่อน ได้เปรียบ เป็นอย่างดี
          ทั้งสองตัวแปรข้างต้นจะผกผันกันโดยธรรมชาติ กล่าวคือ หากเริ่มต้นในช่วงอายุน้อยแม้ไม่มีเงินลงทุนมากแต่จะมีระยะเวลาลงทุนยาวนาน ขณะที่ผู้มีอายุมากจะมีเงินเพื่อลงทุนมากกว่า แต่ระยะเวลาในการลงทุนก็เหลือน้อยลงเช่นกัน
          pmt  คือ จำนวนเงินลงทุนเพิ่มในแต่ละช่วงเวลาตลอดการลงทุน ซึ่งเหมาะสำหรับนักลงทุนผู้มีเงินรายได้เหลือจากรายจ่ายประจำและต้องการนำมาลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
          i, rate คืออัตราผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยตลอดเวลาลงทุนซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญมาก เพราะขึ้นอยู่กับความสามารถในการเลือกหุ้นที่ลงทุน อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยที่สูงต่อเนื่องยาวนานนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนชื่อดังทำผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยที่ 20% ตลอดการลงทุน 40 ปี ทั้งนี้เนื่องจาก ความผันผวนขึ้นลงของตลาดหุ้น ข้อจำกัดในการลงทุนเมื่อพอร์ตโตขึ้นและฐานที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้น คำแนะนำก็คือ ไม่ควรตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไป การคาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ย 12-15% ต่อปีนั้นเป็นเป้าหมายที่ท้าทายและสมเหตุสมผล ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรลืมคือ การมีความสุขในการลงทุนและเห็นพอร์ตที่โตเพิ่มขึ้น ใช้ชีวิตตามปกติ กินอิ่ม นอนหลับ ไม่กังวล และมีสมาธิในการทำงาน
          ลองดูตัวอย่างเพื่อความเข้าใจและเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นดังนี้ สมมติว่า นาย ก. นาย ข. และนาย ค. อายุ 20, 30 และ 40 ปีตามลำดับ วางแผนลงทุนเพื่อเก็บไว้ใช้หลังวัยเกษียณอายุ 60 ปี หากทั้งสามทำผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ย 12%  ต่อปี นาย ก. ที่แบ่งเงินเดือนหลังจบปริญญาตรีมาลงทุน 1,500 บาทต่อเดือน เขาจะมีเงิน 17.6 ล้านบาท ส่วนนาย ข. เริ่มลงทุนด้วยเงิน 100,000 บาทและลงทุนเพิ่มเดือนละ 10,000 บาท จะมีเงิน 38.5 ล้านบาท ขณะที่นาย ค. เริ่มลงทุนจากเงินสะสม 1,000,000 บาทและลงทุนเพิ่ม 50,000 บาทต่อเดือน จะมีเงิน 60.3  ล้านบาท แต่หากสร้างผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ย 15% ทั้งสามจะมีเงินวัยเกษียณจำนวน 46.5 ล้าน 78 ล้าน และ 94.5 ล้านตามลำดับ ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นจึงมีผลต่อมูลค่าเงินในอนาคตอย่างมาก จะเห็นว่า ทุกคนสามารถคาดการณ์ความมั่งคั่งของตนตามศักยภาพได้จากการแทนค่า สูตร ไม่) ลับ ได้โดยง่าย
          การสร้างผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยที่ดีนั้น นอกจากเลือกกิจการคุณภาพเยี่ยมเพื่อผลตอบแทนระยะยาวจากราคาหุ้นที่สูงขึ้นและเงินปันผลในแต่ละปีแล้ว นักลงทุนควรพิจารณาเพิ่มผลตอบแทนเพิ่มเติมจาก หนึ่งคือการเครดิตภาษีเงินปันผลโดยเฉพาะผู้ที่มีฐานภาษีต่ำ อย่างไรก็ตาม การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% และ 20% นั้นจะทำให้การเครดิตภาษีลดลง สองคือ ลดจำนวนซื้อขายหุ้นบ่อยครั้ง การซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตด้วยตนเอง จะช่วยลดค่าคอมมิชชั่น และไม่ต้องคอยรับโทรศัพท์บ่อยครั้งในเวลางาน สามคือ การให้หุ้นยืมเพื่อช็อตเซลหากลงทุนหุ้นขนาดใหญ่สภาพคล่องสูง เป็นการเพิ่มผลตอบแทนจากความผันผวนของตลาดและอารมณ์ของนักลงทุนอื่น และสี่ คือ การหาผลตอบแทนที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับเงินสดรอลงทุน
          ในฐานะ Value Investor พันธุ์แท้ ต้องหาแนวทางทำให้ตัวแปรที่กล่าวมาเกิดประโยชน์สูงสุดในการลงทุนของตน โดยเฉพาะการพัฒนาแนวทางและเงื่อนไขการลงทุนของตนเพื่อผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นที่ดีในระยะยาว  ปิเตอร์ ลินซ์ นักลงทุนเอกของโลกกล่าวไว้ว่า มีเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อที่ไม่ควรสนใจหุ้นที่เซียนคนอื่นกำลังซื้อคือ หนึ่ง เขาอาจจะผิด สอง แม้ว่าเขาถูก แต่เราอาจไม่รู้ว่าเขาจะเปลี่ยนใจและขายหุ้นออกไปเมื่อไร และสาม เราอาจมีข้อมูลและติดตามการลงทุนของกิจการนั้นได้ดีกว่าเซียนนั่นเอง ขอเป็นกำลังใจให้นักลงทุนทุกคนพบแนวทางการลงทุนของตนจนประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายและตามสูตร ไม่) ลับที่กล่าวมา เมื่อวันนั้นมาถึง เราก็คือ เซียนคนหนึ่งนั่นเอง !